Whistleblowing
การรับแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน ข้อกังวล และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้ง
คณะกรรมการบริษัท ของบริษัท ไรส์ แอคเซล จำกัด (“บริษัทฯ”) ได้จัดให้มีช่องทางที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถติดต่อ หรือร้องเรียน แจ้งข้อมูล ข้อเสนอแนะ ในเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหากับคณะกรรมการได้โดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีช่องทางและกระบวนการในการแจ้งเบาะแส และพิจารณาข้อร้องเรียนอย่างโปร่งใส และยุติธรรม และคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ร้องเรียนบริษัทฯ ด้วยความเป็นธรรม คณะกรรมการจึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณารับรายงาน แจ้งเบาะแส หรือเรื่องร้องเรียน หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกระทำที่อาจทำให้เกิด ความสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่จะแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน หรือประเด็นที่ต้องการคำแนะนำ พร้อมชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
ขอบเขตของเรื่องที่รับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชั่น
กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน หรือบุคคลใด ที่กระทำการแทนบริษัทฯ อาจถูกร้องเรียนตามนโยบายฉบับนี้หากมีการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบ รวมถึงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณของบริษัทฯ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การใช้กลไกตามนโยบายฉบับนี้ อาจครอบคลุมการประพฤติอันมิชอบในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
-
พบเห็นการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือมีการดำเนินธุรกิจอย่างไม่ซื่อสัตย์สุจริต
-
พบเห็นการกระทำที่ทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น พบเห็นพนักงานติดสินบน /รับสินบน เจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานเอกชน
-
พบเห็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ หรือมีผลกระทบต่อระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ จนทำให้สงสัยได้ว่า อาจจะเป็นช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชั่น
-
พบเห็นการกระทำที่ทำให้บริษัทฯ เสียผลประโยชน์ กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ
-
พบเห็นการกระทำความผิดทางอาญา หรือยุยงให้กระทำความผิด
-
พบเห็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงใดๆ ซึ่งรวมถึงการทุจริต การให้สินบน และการขู่กรรโชก
-
พบเห็นการกระทำ ความประพฤติ หรือการละเว้นการกระทำในทางบัญชี รายงาน บันทึกรายการ และแนวทางปฏิบัติ และ/หรือ รายงานทางการเงิน หรือการควบคุมภายในที่มีพิรุธหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือแนวทางการปฏิบัติทั่วไป
-
พบเห็นการกระทำโดยเจตนาให้บริษัทฯ เสียหายหรือเสียประโยชน์ หรือการกระทำที่ถือว่าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนไม่มีความประสงค์เปิดเผยตัวตนให้ทราบ ผู้รับเรื่องร้องเรียนจะเป็นตัวแทนเพื่อพิจารณาถึงข้อมูลประกอบเรื่องร้องเรียนถึงข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีนั้นชัดเจนหรือเพียงพอหรือไม่ โดยจะไม่รับเรื่องร้องเรียนหากเป็นไปตามกรณี ดังนี้
-
เรื่องที่ไม่ระบุพยาน หลักฐาน หรือพฤติการณ์ที่กระทำการทุจริต หรือประพฤติผิดที่ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงได้
-
เรื่องของงานทรัพยากรบุคคล ตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคล เรื่องวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของบริษัทฯ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจได้รับไว้พิจารณา หรือวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดเป็นธรรมแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญเพิ่มเติม
แนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานคุ้มครองและรักษาความลับการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน หรือข้อกังวล
บุคคลที่สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทฯ ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่แข่งทางการค้า เจ้าหนี้ ภาครัฐบาล ชุมชน สังคม ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแจ้งด้วยวิธีใด บริษัทฯ จะไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งเบาะแสและจะเก็บข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นความลับ โดยจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
ในระหว่างการสืบสวนหาข้อเท็จจริง บริษัทฯ จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรไม่ให้ผู้แจ้งได้รับความเดือดร้อน หรือความไม่ชอบธรรม อันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส ร้องเรียน การเป็นพยานหรือการให้ข้อมูล ทั้งนี้ ผู้ได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่นโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายที่อาจจะเกิดของผู้แจ้งร้องเรียนหรือเบาะแสเป็นหลัก รวมถึงแหล่งที่มาของข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีการจงใจฝ่าฝืนนำข้อมูลออกไปเปิดเผย บริษัทฯ จะดำเนินการลงโทษทางวินัย และ/หรือดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดอันที่เป็นผลกระทบต่อความสัมพันธ์ด้านการทำงานของพนักงานที่แสดงตนและแจ้งเบาะแส เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานและรักษาประโยชน์ของบริษัทฯ โดยรวมเป็นสำคัญ
ช่องทางการรับแจ้งเบาะแส ร้องเรียน หรือขอคำแนะนำ เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเอกสารลับ ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
1. จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) หรือ จดหมายทางไปรษณีย์
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
อีเมล : whistleblowing@riseaccel.com
ไปรษณีย์ : ประธานกรรมการตรวจสอบ
บริษัท ไรส์ แอคเซล จำกัด
127 อาคารเกษร ทาวเวอร์ ชั้น 22 ห้องเลขที่ อี, เอฟ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
อีเมล : ceo@riseaccel.com หรือ
ไปรษณีย์ : ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ไรส์ แอคเซล จำกัด
127 อาคารเกษร ทาวเวอร์ ชั้น 22 ห้องเลขที่ อี, เอฟ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เลขานุการบริษัท
อีเมล : company.secretary@riseaccel.com
ไปรษณีย์ : เลขานุการบริษัท
บริษัท ไรส์ แอคเซล จำกัด
127 อาคารเกษร ทาวเวอร์ ชั้น 22 ห้องเลขที่ อี, เอฟ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
2. ช่องทางหมายเลขโทรศัพท์ โทร. 02-046-2929
3. Website: www.riseaccel.com ที่ Menu “Whistleblowing”
หมายเหตุ:
-
กรณีผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้อนเรียน ต้องการส่งไปรษณีย์ถึง ประธานกรรมการตรวจสอบ, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, เลขานุการบริษัท ท่านสามารถระบุชื่อตำแหน่งและส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ “บริษัท ไรส์ แอคเซล จำกัด เลขที่ 127 อาคารเกษร ทาวเวอร์ ชั้น 22 ห้องเลขที่ อี, เอฟ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330”
-
ในกรณีผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนมีข้อร้องเรียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการบริหาร ขอให้ท่านส่งเรื่องร้องเรียนมายัง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรง
-
ในกรณีที่มีประเด็นข้อร้องเรียนหรือเรื่องที่เกี่ยวการทุจริตคอร์รัปชั่น อันเป็นกรณีเร่งด่วนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายงานไปตามลำดับชั้นโดยทันที และนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดเพื่อสั่งการโดยไม่ชักช้า